psoriasis
Home ] know your skin ] Sun and skin ] skin beauty ] common  skin problems ] skin links ] contact us ]

 

โรคสะเก็ดเงินคืออะไร
โรคสะเก็ดเงินเกิดจากอะไร
ทำไมผิวหนังจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
การรักษาโรคสะเก็ดเงิน
ควรทำอย่างไรถ้าเป็นโรคสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงินคืออะไร

โรคสะเก็ดเงิน บางทีเรียก โรคเรื้อนกวาง เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง ที่มีผื่นนูนแดงและมีสะเก็ดหนาสีขาวเงินอยู่บนผื่น บริเวณที่พบบ่อยคือ ข้อศอก เข่า หลัง แต่ก็พบได้ทุกที่ของร่างกาย รวมทั้งแขนขา ใบหน้า หนังศีรษะ และเล็บ  นอกจากนั้นประมาณ ๑๐ เปอร์เซนต์ของผู้ป่วยยังอาจมีอาการข้ออักเสบร่วมด้วย
ความรุนแรงของโรคมีตั้งแต่น้อยจนเป็นมากทั้งตัว ในผู้ป่วยที่มีผื่นกระจายทั้งตัวมีโอกาสเกิดข้ออักเสบมากกว่าในรายที่มีผื่นเพียงเล็กน้อย

โรคสะเก็ดเงินเกิดจากอะไร

ผื่นในโรคสะเก็ดเงินเป็นผลจาก เซลล์ผิวหนังมีการแบ่งตัวเร็วกว่าภาวะปกติ โดยทั่วไปเซลล์ผิวหนังจะมีการแบ่งตัวและเคลื่อนตัวจากชั้นล่างสุด ขึ้นสู่ชั้นบนสุด และค่อยๆหลุดลอกไปเองในเวลาประมาณ ๓๐ วัน แต่ในผู้ป่วยโรคนี้ เซลล์ผิวหนังใช้เวลาแค่ ๒ ถึง ๔ วัน ในการเคลื่อนตัวไปสู่ชั้นบนสุด ทำให้เซลล์ชั้นบนสุดอยู่กันหนาแน่นและลอกหลุดไม่ทัน จึงเห็นเป็นสะเก็ดหนาเกิดขึ้น นอกจากนั้น ผิวหนังบริเวณที่เป็นผื่นยังมีการอักเสบและมีหลอดเลือดฝอยเพิ่มขึ้น ทำให้ผื่นใต้ต่อสะเก็ดมีลักษณะแดงด้วย

ทำไมผิวหนังจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ยังไม่มีใครทราบสาเหตุแน่นอน แต่เชื่อว่าการเกิดโรคเป็นจาก ๒ ปัจจัย ร่วมกัน คือ

ปัจจัยทางพันธุกรรม
ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม เช่น ความเครียด คออักเสบ หวัด ยาบางชนิด เป็นต้น

การรักษาโรคสะเก็ดเงิน

ในปัจจุบันมีการรักษาหลายอย่างที่ทำให้ผื่นยุบลงในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
แต่โรคนี้ไม่หายขาด มักเกิดผื่นขึ้นอีกหลังจากโรคสงบลง การรักษาแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่

การใช้ยาทาเฉพาะที่

ผู้ป่วยที่มีผื่นไม่มากนัก สามารถใช้ยาทารักษาได้ ร่วมกับการทาmoisturizer  อาจช่วยลดอาการคันได้

ยาทาในกลุ่มสเตียรอยด์ (steroids) ยาทาในกลุ่มนี้ได้ผลดี
แต่เนื่องจากมีผลข้างเคียง หากใช้ไปนานๆจะทำให้ผิวหนังบาง เกิดเส้นเลือดฝอย และเกิดรอยจํ้าได้ง่าย  ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ยาทาในกลุ่มนี้เป็นระยะเวลานาน ยาในกลุ่มนี้มีข้อดีที่ไม่ระคายเคืองเหมือนยาทาชนิดอื่น จึงสามารถใช้ทาบริเวณใบหน้า และตามซอกพับได้ โดยใช้ความเข้มข้นตํ่าๆ  ยาทาที่มีความเข้มข้นสูง ใช้ทาผื่นบริเวณหนังศีรษะ
นํ้ามันดิน (coal tar) เป็นยาที่ใช้รักษาโรคนี้มานานมาก ข้อเสียคือมีกลิ่น และสีติดเสื้อผ้าได้ แต่ยานี้ในรุ่นหลังๆมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น  ยานี้มีผลิตในรูปของแชมพูสระผม ใช้ในรายที่มีผื่นที่หนังศีรษะ
แอนทราลิน (anthralins) ใช้ได้ดีแม้ในผื่นหนาๆ แต่ระคายเคือง และมีสีติดเสื้อผ้าได้ แพทย์จะแนะนำวิธีใช้ที่ได้ผลและมีผลข้างเคียงน้อย
สารสกัดจากวิตะมินดี ๓ (vitamin D-3 derivatives,calcipotriol) เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง มีข้อดีตรงไม่มีผลข้างเคียงแบบสเตียรอยด์ แต่ราคาแพง และมีการระคายเคืองได้บ้าง ต้องใช้ยาตามปริมาณที่แพทย์แนะนำ หากทามากเกินไปจะมีผลข้างเคียงได้
การรักษาโดยใช้แสง UVB,PUVA

ในรายที่เป็นมาก หรือเป็นทั้งตัว การใช้ยาทาอย่างเดียวมักไม่เพียงพอ การใช้แสง UVB หรือใช้แสง UVA ร่วมกับรับประทานยา Psolaren(PUVA) จะให้ผลได้ดีมากกว่า ๘๐ เปอร์เซนต์ของผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยต้องมีเวลามารับการรักษาที่โรงพยาบาล ประมาณ ๒ ครั้งต่อสัปดาห์ และใช้เวลาเป็นเดือนในการรักษาแต่ละคอร์ส แม้ว่าแสงอุลตราไวโอเลตจะมีผลเสียต่อผิวหนังในระยะยาว (อ่านรายละเอียดใน sun and skin) แต่แพทย์สามารถกำหนดคลื่นความยาวและระยะเวลาในการฉายแสงแต่ละครั้ง ให้อยู่ในช่วงที่ปลอดภัย

การใช้ยารับประทาน

ในผู้ป่วยที่เป็นมาก แพทย์อาจให้ยารับประทาน ได้แก่ methotrexate,acitretin,cyclosporin เป็นต้น แต่ยารับประทานทุกตัวมีผลข้างเคียงค่อนข้างรุนแรง ระหว่างรับประทานยาจะมีการตรวจเลือดเป็นระยะ เพื่อดูการทำงานของตับ ไขกระดูก เป็นต้น

ควรทำอย่างไรถ้าเป็นโรคสะเก็ดเงิน

ทำความเข้าใจว่าเป็นโรคเรื้อรัง ไม่หายขาด แต่สามารถมีการรักษาที่ทำให้ผื่นสงบลงได้ โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อ คุณสามารถสัมผัสกับบุคคลอื่นได้ โดยไม่มีการแพร่เชื้อ
รักษาสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง ความเครียด การเจ็บป่วย เป็นตัวกระตุ้นให้ผื่นกำเริบได้
อย่าแกะเกา หรือขีดข่วนผิวหนัง จะเกิดผื่นขึ้นตามรอยดังกล่าวได้
อย่าปล่อยให้ผิวแห้ง อาจทาmoisturizer ให้ผิวชุ่มชื้น จะช่วยลดอาการคันได้
อาหารโดยทั่วไปไม่มีผลต่อการเกิดผื่น แต่ห้ามดื่มเหล้า การดื่มเหล้าจะทำให้การรักษาได้ผลน้อยลง นอกจากนั้นถ้าต้องรับประทานยา เหล้าจะไปทำให้เพิ่มผลข้างเคียงของยาที่มีต่อตับ
อย่าใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทานในการรักษา แม้จะให้ผลเร็ว แต่มีผลข้างเคียงมาก และเมื่อหยุดยาจะทำให้โรคมีอาการรุนแรงขึ้น
รับการรักษาจากแพทย์อย่างสมํ่าเสมอ แพทย์จะปรับวิธีการรักษาให้เหมาะกับแต่ละบุคคล ให้มีระยะเวลาที่โรคสงบได้นานที่สุด

web address: http://thaiskin.tripod.com
email: thaiskin@doctor.com